top of page

ส่องเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคหลัง Covid-19



นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะการเปิดรับเทคโนโลยี การบริการดิจิทัลใหม่ๆ และแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกกันว่า New Normal ถึงแม้ว่าในอนาคตวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม

ดังนั้นธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังโควิดกัน แต่จะมีพฤติกรรมอะไรบ้างนั้นไปดูกันค่ะ


1. ชอปปิ้งออนไลน์โตไว แต่ออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางหลักในสินค้าบางประเภท

นับตั้งแต่การเกิดโรคระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคมักสั่งซื้ออันดับต้นๆ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม และสินค้าประเภททำได้ด้วยตัวเอง (Do it Yourself: DIY) และการปรับปรุงบ้าน (Home Improvement) ผ่านช่องทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และE-Marketplace ในการขนส่ง และบริการ ดังนั้นธุรกิจที่มีช่องทางการขายเป็นหน้าร้านเพียงช่องทางเดียว ต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางธุรกิจ และควรขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อรองรับลูกค้าที่หันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แม้ในอนาคตวิกฤตโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม


2. เทรนด์สุขภาพและความปลอดภัยมาแรง

มาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย เมื่อต้องซื้อสินค้าจากหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการภายในร้าน การทำความสะอาดฆ่าเชื้อเป็นประจำ หรือจุดบริการเจลล้างมือ และนอกจากนี้การชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาซื้อสินค้าหน้าร้านอีกด้วย ฉะนั้น บริษัทและธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ ยิ่งจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับลูกค้า โดยเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรการความปลอดภัยและเพิ่มช่องทางการชำระผ่านดิจิทัลเพย์เมนต์เพื่ออำนวยความสะดวก ตลอดจนสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค


3. ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต

ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ทำให้คนไทยทั่วประเทศระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น จากผลสำรวจการซื้ออาหาร เผยว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่ง (57%) มีแนวโน้มที่จะลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารที่ร้านในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ในขณะที่เกือบ 1 ใน 2 ของผู้บริโภค (47%) มีแนวโน้มที่จะซื้ออาหารแบบกลับบ้าน (Takeaway Food) เพิ่มขึ้นเพราะยังกังวลเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัย

เช่นเดียวกันกับการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นด้านอื่นๆ โดย 44% ของผู้บริโภคจะลดการจับจ่ายใช้สอยด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬา และ 41% ตั้งใจจะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว


4. เทรนด์ความยั่งยืนยิ่งมาแรง

เรียกได้ว่าเทรนด์การรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเทรนด์ที่กําลังเติบโตในขณะนี้ เพราะผู้บริโภคเชื่อว่า ทุกการตัดสินใจในชีวิตของเราในทุก ๆ วันล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสภาพอากาศ น้ำ และการบริโภคอาหาร โดย 79% ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ขณะที่ 77% ต้องการซื้อสินค้าที่ระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้เกือบ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคยังระบุว่า พวกเขาต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะเห็นแนวโน้มของพฤติกรรมด้านความยั่งยืนมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้ยิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องการความโปร่งใสและความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับ ‘แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน’ (Environmental, Social, Governance: ESG) และผนวกเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กร เพื่อตอบรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น


สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจ แต่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มยังไง การศึกษาจากพฤติกรรมผู้บริโภคอาจเป็นแนวทางในการทำธุรกิจได้ค่ะ และสำหรับธุรกิจหรือบริษัท ก็ยังสามารถศึกษพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวกิจการหรือธุรกิจให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคต่อจากนี้ได้อีกด้วยค่ะ



31 views0 comments
bottom of page